ข้อมูลสำหรับการปลูกในประเทศไทย

ข้อมูลจากการศึกษาค้นคว้าเพื่อการปลูกอินทผลัมในประเทศไทย

        1. ต้นอินทผลัมเป็นไม้ผลเมืองร้อนที่ปลูกกันในประเทศแถบตะวันออกกลางแบบทะเลทราย มีความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้งได้เป็นอย่างดี ทำให้คนไทยส่วนมากเข้าใจว่าเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว อินทผลัมเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก โดยมีความต้องการน้ำถึงปีละ 2,000 - 2,500 ม.ม. (ประเทศไทยมีฝนตกปีละ 1,000 - 1,600 ม.ม.) ดังนั้นถ้าเราต้องการอินทผลัมที่มีคุณภาพ จะต้องมีการดูแลรักษาที่ดี และต้องมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอในช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อนด้วย 

        2. อินทผลัมเป็นต้นไม้ที่ไม่สมบูรณ์เพศ โดยมีดอกตัวเมียและตัวผู้แยกอยู่กันคนละต้น ดังนั้นในการปลูกเพื่อมีการติดผลที่ดี จึงจำเป็นต้องปลูกทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมียไว้ใน สวนเพื่อประโยชน์ในการผสมเกสร โดยหากเรามีต้นอินทผลัมตัวผู้สายพันธุ์ดีปลูก จะมีสัดส่วนในการปลูกตัวผู้ 1 ต้น ต่อตัวเมียถึง 40-50 ต้น

        3. ผลอินทผลัมที่ซื้อมาจากตลาดทั่วไปทั้งแบบกินผลสดและผลแห้ง เมล็ดที่ได้หลังจากการบริโภคแล้ว สามารถนำไปเพาะเป็นต้นเพื่อปลูกได้ โดยมีโอกาสที่จะได้เป็นต้นตัวผู้และต้นตัวเมียมีอย่างละครึ่ง โดยแม้จะได้ต้นตัวเมียไปปลูกแต่คุณภาพก็จะไม่เหมือนกับต้นแม่ เนื่องจากผลอินทผลัมที่มีจำหน่าย เป็นผลที่ได้จากการผสมเกสรข้ามต้น จึงถือว่าเมล็ดที่ได้เป็นพันธุ์ลูกผสม ซึ่งไม่สามารถเรียกชื่อเดียวกับต้นแม่ได้ ทั้งนี้คุณภาพอาจจะแย่ลงหรือดีขึ้นก็ได้ (แต่มีเพียงส่วนน้อยที่คุณภาพจะดีขึ้น)

        4. การพัฒนาของผลอินทผลัมจะมี 4 ช่วงคือ
            (1) ช่วงผลดิบ (Kimri)
            (2) ช่วงผลโตเต็มที่และเนื้อมีความกรอบ (Khlaal)
            (3) ช่วงผลสุกและมีเนื้อนิ่ม (Rutab)
            (4) ช่วงผลแห้ง (Tarm)
โดยระยะเวลาตั้งแต่เริ่มออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 150-240 วันแล้วแต่สายพันธุ์

stage

(ภาพจาก http://www.flowersinisrael.com/Phoenixdactylifera_page.htm)

รูปที่ 1 ภาพแสดงการพัฒนาผลของอินทผลัมในระยะต่างๆ

รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่บทความเรื่อง "การพัฒนาของผลอินทผลัม"

        5. ผลอินทผลัมสดเมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นจากช่วง Rutab ไปเป็นช่วง Tarm ซึ่งเป็นผลอินทผลัมแห้งที่มีคุณภาพ จะต้องอาศัยสภาพอากาศที่ร้อนและแห้ง ซึ่งเป็นสภาพของอากาศโดยทั่วไปของประเทศแถบตะวันออกกลาง หากเป็นประเทศไทยที่มีความร้อนชื้น อาจจะทำให้การเปลี่ยนแปลงไม่สมบูรณ์โดยอาจจะเกิดเชื้อราขึ้นและเน่าในที่สุดได้ จึงอาจจะต้องอาศัยวิธีการอบแห้งมาช่วย โดยอาจจะใช้ครื่องอบความร้อนจากก๊าซ ไฟฟ้าหรือพลังแสงอาทิตย์ก็ได้ ซึ่งสามารถใช้อบผลอินทผลัมให้แห้งได้ โดยผลอินทผลัมแห้งที่ได้จะมีคุณภาพดีเช่นเดียวกับที่นำเข้าจากต่างประเทศ

        6. สำหรับประเทศไทยมีหลายจังหวัดที่มีสภาพภูมิอากาศและสภาพพื้นที่ ที่สามารถปลูกอินทผลัมได้ดี เพียงแต่ในช่วงที่ผลผลิตเริ่มแก่ (ประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม) ซึ่งยังอยู่ช่วงฤดูฝนอาจจะทำให้เกิดปัญหาผลเน่าได้ ดังนั้น แนวทางที่จะผลิตเพื่อการพาณิชย์สำหรับประเทศไทย คือการเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมที่จะจำหน่ายผลสด ลักษณะดังกล่าวควรจะมีผลขนาดโต เนื้อกรอบ รสชาติ มัน หวาน เช่น พันธุ์ Barhi, Hayani หรือ Khalas ซึ่งเมื่อผลแก่จัดสามารถส่งไปจำหน่ายได้เลย ปัจจุบันมีผู้รู้จักอินทผลัมสดและซื้อมาบริโภคมากขึ้นทั้งในประเทศไทยเอง และประเทศใกล้เคียง ประกอบกับในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการรวมตัวของเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ซึ่งบางประเทศของกลุ่ม AEC มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม และมีความคุ้นเคยกับการบริโภคอินทผลัมสดอยู่แล้ว

        7. ต้นพันธุ์อินทผลัมที่ดีควรเป็นต้นที่แยกหน่อจากต้นแม่ที่รู้จักสายพันธุ์ และมีประวัติการให้ผลผลิตที่ดี ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีการจำหน่ายหน่อต้นพันธุ์อินทผลัม และการจะสั่งหน่อต้นพันธุ์ดังกล่าวจากประเทศผู้ผลิตเข้ามาปลูกอาจจะยุ่งยาก แต่ในปัจจุบันมีต้นกล้าอินทผลัมที่ผลิตด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue culture) เพื่อการจำหน่ายแล้วในหลายประเทศ เช่น อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อังกฤษ หรืออินเดีย โดยเราสามารถสั่งซื้อต้นกล้าดังกล่าวทางอินเตอร์เน็ตได้ ประกอบกับการขนส่งทางอากาศทำได้สะดวกและรวดเร็ว ทำให้สามารถขนส่งต้นกล้ามาถึงเราได้โดยต้นกล้าไม่บอบช้ำ และในขณะนี้ได้มีผู้เริ่มนำเข้าอินทผลัมที่เพาะเลี้ยงเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยบ้างแล้ว แต่ราคายังค่อนข้างสูง

packing
medjooltc

รูปที่ 2 ต้นกล้าอินทผลัมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่่อที่สวนภูผาลัมนำเข้าจากประเทศอาหรับอิมิเรตส์

        8. สำหรับเกษตรที่สนใจจะทดลองปลูกอินทผลัม อาจจะเริ่มปลูกโดยใช้ต้นกล้าที่เพาะจากเมล็ด ซึ่งมีราคาถูกกว่าต้นกล้าอินทผลัมที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาก แต่ก็ควรเลือกใช้ต้นกล้าที่มาจากต้นแม่พันธุ์ที่รู้จักสายพันธุ์ รวมทั้งมีประวัติในการให้ผลผลิตที่ดี ซึ่งในปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้จำหน่ายต้นกล้าอินทผลัมที่เพาะจากเมล็ดอยู่หลายแห่ง

sampling54-6

รูปที่ 3 ต้นกล้าอินทผลัมที่เพาะจากเมล็ดของสวนภูผาลัมที่นำลงปลูกเมื่อปี พ.ศ.2554

        อินทผลัมจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรไทยที่จะได้ทดลองผลิตพืชใหม่ ที่อาจจะเป็นพืชที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคตก็เป็นได้

Email us © สวนภูผาลัม 2555 All right reserved