การพัฒนาของผลอินทผลัมจะมี 4 ช่วงดังนี้
1. ช่วงผลดิบ (ภาษาอารบิก - Kimri)
2. ช่วงผลโตเต็มที่และเนื้อมีความกรอบ (ภาษาอารบิก - Khlaal บางครั้งเรียกว่า Bisr)
3. ช่วงผลสุกและมีเนื้อนิ่ม (ภาษาอารบิก - Rutab)
4. ช่วงผลแห้ง (ภาษาอารบิก - Tarm หรือ Tarmar)
โดยระยะเวลาตั้งแต่เริ่มออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 150-240 วันแล้วแต่สายพันธุ์
ภาพแสดงการพัฒนาผลของอินทผลัมในระยะต่างๆ
(ภาพจาก http://www.flowersinisrael.com/Phoenixdactylifera_page.htm)
ในช่วง Kimri ผลอินทผลัมจะเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนไปถึงช่วงของ Khalal ซึ่งเมื่อถึงช่วงของ Khalal แล้ว สีของผลอินทผลัมจะเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวไปเป็นสีที่เป็นไปตามแต่ละสายพันธุ์ของอินทผลัม โดยผลจะยังคงแข็งและมีรสฝาดเนื่องจากมีแทนนินผสมอยู่มาก อัตราการเจริญเติบโตของผลและน้ำหนักในช่วง Khalal จะลดลงและน้อยกว่าช่วง Kimri และเมื่อผลมีขนาดโตและน้ำหนักมากจนเต็มที่ก็จะเริ่มเข้าสู่ช่วง Rutab ซึ่งในช่วง Rutab นี้ สีผิวจะมีลักษณะเข้มขึ้นเป็นสีเหลืองอำพัน หรือสีน้ำตาลหรือเกือบดำ ขึ้นกับสายพันธุ์ ผลจะมีลักษณะเริ่มสุกและนิ่มขึ้น ผิวเริ่มเหี่ยวย่น และมีแทนนินเพิ่มมากขึ้น ส่วนในช่วง Tamar ปริมาณน้ำในผลจะลดลง และมีอัตราส่วนของน้ำต่อน้ำตาลสูงพอที่ไม่ให้เกิดการหมัก ผลของอินผลัมเมื่อยังอ่อนอยู่ จะมีปริมาณน้ำอยู่ประมาณ 75-80% และจะลดลงอย่างรวดเร็วเหลือประมาณ 40-60% เมื่อผลเริ่มสุก ส่วนปริมาณน้ำตาลของผลอินทผลัมเมื่อตากแห้งในช่วงเริ่มต้นของ Kimri จะมีอยู่ประมาณ 20% และจะค่อยๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนเป็น 50% เมื่อถึงช่วงเริ่มต้นของ Khalal จากนั้นปริมาณน้ำตาลจะสะสมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไปจนถึง 72- 88% เมื่อผลแก่เต็มที่ ทั้งนี้ลักษณะและขนาดของผลอินทผลัมจะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ การดูแลรักษา และสภาพแวดล้อม