บทความ


การตัดแต่งหนาม

                ขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญในการตัดแต่งใบคือการกำจัดหนามบริเวณโคนใบทิ้งไป ขั้นตอนนี้จะต้องทำทุกปีในช่วงปลายเดือนธันวาคมไปจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธุ์ การตัดหนามบริเวณโคนใบที่เกิดใหม่ทิ้ง เพื่อให้เกิดความสะดวกในการผสมเกสรและการจัดการกับช่อผลอินทผลัม เนื่องหนามอินทผลัมมีความยาวและแข็งมาก การตัดหนามทิ้งให้กระทำด้วยความระมัดระวังเพราะอาจจะเกิดอันตรายขึ้นระหว่าการตัดหนามทิ้ง และเมื่อตัดหนามทิ้งแล้วหนามจะร่วงลงสู่บริเวณพื้นดิน ให้ใช้คราดกวาดมากองรวมกันไว้เพื่อกำจัดทิ้งต่อไป อย่าทิ้งหนามที่ตัดออกมาไว้บนพื้นดิน เพราะหนามอาจจะทิ่มเข้าเนื้อ โดยหนามสามารถที่จะทิ่มทะลุรองเท้าทำให้ได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งยังสามารถแทงทะลุยางเครื่องจักรกลที่ใช้ในสวนทำให้ยางรั่วได้ โดยหนามที่ถูกทิ้งไว้อย่างไม่เอาใจใส่นี้ จะยังคงแข็งและอยู่ได้อย่างทนทานเป็นระยะเวลานาน

                โดยปกติแล้วให้ตัดหนามบริเวณโคนใบอินทผลัมที่เกิดขึ้นใหม่ทิ้ง ก่อนจะถึงฤดูกาลผสมเกสรอินทผลัม ซึ่งเราจะเริ่มเก็บเกสรอินทผลัมตัวผู้ในเดือนกุมภาพันธุ์ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการเข้าไปเปิดเปลือกจั่น ทุกๆปีจะมีใบอินทผลัมเกิดขึ้นใหม่ประมาณ 26-36 ใบ ดังนั้นเราจะต้องกำจัดหนามทิ้งในแต่ละปี ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บของคนงานในการทำงานของขั้นตอนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเกสร การผสมเกสร การตัดแต่งผล การตัดแต่งใบแก่หรือการเก็บเกี่ยว เป็นต้น สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการตัดหนามนี้ เราอาจจะใช้เคียวหรือมีดที่คมๆ ก็ได้

Thorn

รูปที่ 1 หนามอินทผลัม

การขยายพันธุ์อินทผลัมด้วยหน่อ

                การขยายพันธุ์โดยการใช้หน่อเราเรียกว่า "การขยายพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ" ซึ่งเป็นวิธีการในการขยายพันธุ์อินทผลัมที่ใช้กันมานานแล้ว โดยอาจจะใช้มานานนับพันปี การขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้เราจะได้อินทผลัมพันธุ์แท้ โดยหน่อจะมีคุณลักษณะที่เหมือนต้นแม่พันธุ์ทุกประการ ผลอินทผลัมที่จะได้จากหน่อก็จะมีคุณภาพเหมือนต้นแม่พันธุ์และให้ผลผลิตสม่ำเสมอ หน่อจะเกิดขึ้นที่บริเวณซอกใบ โดยอาจจะต้องใช้เวลา 4-6 ปี กว่าที่จะพร้อมในการนำไปปลูกได้ ตลอดอายุขัยของอินทผลัมจะมีหน่อประมาณ 20-30 หน่อ โดยหน่อจะทยอยเกิดขึ้นในช่วงไม่เกิน 15 ปีแรกของมัน โดยมีหน่อที่เราจะสามารถแยกไปปลูกได้ปีละ 3-4 หน่อ อินทผลัมที่ออกหน่อดีคือสายพันธุ์ Zahidi, Berim และ Hayani ส่วนสายพันธุ์ที่ให้หน่อน้อยคือ Mektoum และ Barhi ระบบรากของหน่อจากต่างจากต้นกล้าที่เพาะจากเมล็ด โดยต้นกล้าจะมีรากรอบๆโคนต้น ส่วนหน่อจะไม่มีรากในบริเวณที่ติดกับต้นแม่ หลังจากเราแยกหน่อออกมาจากต้นแม่แล้ว เราจะต้องทำการเพาะเลี้ยงอนุบาลไว้ในเรือนเพาะชำเป็นเวลา 1-2 ปีก่อนจะนำไปปลูก 

IMG 0271

รูปที่ 1 หน่อของอินทผลัม

                เราสามารถที่จะเพิ่มอัตราการรอดตายของหน่ออินทผลัมได้โดยการเลือกใช้หน่อที่มีอายุ 3-6 ปี แลมีน้ำหนักประมาณไม่เกิน 9 กิโลกรัม อัตราการตายของหน่อเล็กจะสูงกว่าหน่อที่โตกว่า เมื่อเราแยกหน่อออกจากต้นแม่แล้ว เราจะต้องอนุบาลไว้ในเรือนเพาะชำเป็นเวลา 1-2 ปี เพื่อเพิ่มอัตราการรอดตาย และต้องระมัดระวังเรื่องเชื้อราที่จะเกิดขึ้นกับหน่อ โดยจะต้องใส่ยากำจัดเชื้อราเดือนละ 2 ครั้ง ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการแยกหน่อคือช่วงเริ่มต้นของฤดูร้อน คือช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน และช่วงเวลาที่เหมาะในการนำหน่อที่อนุบาลไว้จนแข็งแรงแล้วมาปลูกคือช่วงต้นฤดูฝน หน่ออินทผลัมมีอยู่ 2 ประเภทคือหน่อที่เกิดบริเวณด้านล่างแถบโคนต้นและหน่อที่เกิดด้านบน เชื่อกันว่าหน่อที่เกิดบริเวณด้านล่างจะเจริญเติบโตเร็วกว่าและให้ผลผลิตที่มากกว่าหน่อที่เกิดด้านบน 

Medjool อายุ 5 ปี

รูปที่ 1 หน่อของอินทผลัมที่เกิดด้านบน
(ภาพจาก http://www.zvieli.co.il/neot.htm)

                หน่อจะถูกกำจัดทิ้งไปตั้งแต่ยังเล็กด้วยเหตุผลหลายประการ ประการแรกเพื่อสะดวกในการเก็บเกี่ยวผลผลิตและสะดวกในการดูแลอินทผลัม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินทผลัมสายพันธุ์ Medjool จะต้องการการดูแลรักษามากเป็นพิเศษ เพื่อให้ผลอินทผลัมมีขนาดโตและมีคุณภาพดี ดังนั้นจึงต้องกำจัดหน่อทิ้งไปเพื่อไม่ให้แย่งอาหารซึ่งจะทำให้ผลอินผลัมเล็กลง เหตุผลอีกประการหนึ่งคือการกำจัดหน่อเล็กๆออกไปโดยคงเหลือจำนวนหน่อไว้ให้เหมาะสมจะทำให้หน่อที่เหลือแข็งแรงมากกว่า โดยปกติแล้วเราไม่ควรจะไว้หน่อมากเกินกว่า 6 หน่อบนต้นแม่พันธุ์เพราะจะทำให้ผลผลิตและคุณภาพของผลอินทผลัมต่ำลง รวมทั้งหน่อจะไม่แข็งแรงด้วย 

                ก่อนที่เราจะทำการขุดแยกหน่ออินทผลัม เราต้องรดน้ำให้ชุ่มก่อนเป็นเวลาหลายวัน ขุดดินบริเวณรอบๆหน่อออกโดยให้ห่างจากหน่อพอสมควร ใช้เครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายสิ่วขนาดใหญ่และคม ตัดแยกหน่อออกจากต้นแม่ โดยให้มีรากเหลือติดอยู่ที่หน่อไม่น้อยกว่า 2-3 นิ้ว ไม่ควรตัดรากให้ชิดหน่อจนเกินไปเพราะทำให้หน่อเกิดอาการบอบช้ำได้ และเพื่อให้หน่อบอบช้ำน้อยที่สุด จึงควรตัดรากให้ขาดในครั้งเดียว จากนั้นให้รวบใบของหน่อมัดไว้และตัดใบออกทิ้งบางส่วนเพื่อลดการคายน้ำและสะดวกในการขนย้าย หลังจากแยกหน่อเสร็จแล้วให้ทา Copper Sulphate ที่ปลายรากของหน่อและบริเวณที่แยกหน่อออกมาทั้งหน่อและต้นแม่พันธุ์ด้วยด้วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ สำหรับอัตราการรอดตายของหน่อจะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ Deglet Noor จะมีอัตราการรอดตายสูงกว่าสายพันธุ์ Medjool ดังนั้นเราจึงต้องอนุบาลหน่อที่พึ่งแยกออกมาไว้ในเรือนเพาะชำเป็นเวลา 1-2 ให้หน่อแข็งแรงก่อนนำลงปลูก และไม่ควรนำหน่อที่พึ่งแยกออกมาลงปลูกเลยเพราะจะทำให้หน่อมีโอกาสตายสูง


รูปที่ 3 วิดีโอแสดงการแยกหน่ออินทผลัม 

(ปรับปรุงจาก http://www.medjool-dates.com/date-fruit-propagation.html)

พัฒนาการของผลอินทผลัม

        การพัฒนาของผลอินทผลัมจะมี 4 ช่วงดังนี้
            1. ช่วงผลดิบ (ภาษาอารบิก - Kimri)
            2. ช่วงผลโตเต็มที่และเนื้อมีความกรอบ (ภาษาอารบิก - Khlaal บางครั้งเรียกว่า Bisr)
            3. ช่วงผลสุกและมีเนื้อนิ่ม (ภาษาอารบิก - Rutab)
            4. ช่วงผลแห้ง (ภาษาอารบิก - Tarm หรือ Tarmar)
โดยระยะเวลาตั้งแต่เริ่มออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 150-240 วันแล้วแต่สายพันธุ์

stage

ภาพแสดงการพัฒนาผลของอินทผลัมในระยะต่างๆ

 (ภาพจาก http://www.flowersinisrael.com/Phoenixdactylifera_page.htm) 

               ในช่วง Kimri ผลอินทผลัมจะเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนไปถึงช่วงของ Khalal ซึ่งเมื่อถึงช่วงของ Khalal แล้ว สีของผลอินทผลัมจะเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวไปเป็นสีที่เป็นไปตามแต่ละสายพันธุ์ของอินทผลัม โดยผลจะยังคงแข็งและมีรสฝาดเนื่องจากมีแทนนินผสมอยู่มาก อัตราการเจริญเติบโตของผลและน้ำหนักในช่วง Khalal จะลดลงและน้อยกว่าช่วง Kimri และเมื่อผลมีขนาดโตและน้ำหนักมากจนเต็มที่ก็จะเริ่มเข้าสู่ช่วง Rutab ซึ่งในช่วง Rutab นี้ สีผิวจะมีลักษณะเข้มขึ้นเป็นสีเหลืองอำพัน หรือสีน้ำตาลหรือเกือบดำ ขึ้นกับสายพันธุ์ ผลจะมีลักษณะเริ่มสุกและนิ่มขึ้น ผิวเริ่มเหี่ยวย่น และมีแทนนินเพิ่มมากขึ้น ส่วนในช่วง Tamar  ปริมาณน้ำในผลจะลดลง และมีอัตราส่วนของน้ำต่อน้ำตาลสูงพอที่ไม่ให้เกิดการหมัก ผลของอินผลัมเมื่อยังอ่อนอยู่ จะมีปริมาณน้ำอยู่ประมาณ 75-80% และจะลดลงอย่างรวดเร็วเหลือประมาณ 40-60% เมื่อผลเริ่มสุก  ส่วนปริมาณน้ำตาลของผลอินทผลัมเมื่อตากแห้งในช่วงเริ่มต้นของ Kimri จะมีอยู่ประมาณ 20% และจะค่อยๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนเป็น 50% เมื่อถึงช่วงเริ่มต้นของ Khalal จากนั้นปริมาณน้ำตาลจะสะสมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไปจนถึง 72- 88% เมื่อผลแก่เต็มที่ ทั้งนี้ลักษณะและขนาดของผลอินทผลัมจะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ การดูแลรักษา และสภาพแวดล้อม 


การเพาะอินทผลัมโดยใช้เมล็ด

              การเพาะอินทผลัมโดยใช้เมล็ดเป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็วในการขยายพันธุ์อินทผลัมจำนวนมากๆแต่เนื่องจากอินทผลัมเป็นพืชที่่ไม่สมบูรณ์เพศ การขยายพันธุ์โดยเมล็ด โอกาสที่จะได้เป็นต้นตัวผู้และต้นตัวเมียมีอย่างละครึ่ง และเราจะไม่สามารถทราบเพศของต้นอินทผลัมจากการเพาะเมล็ด ต้องปลูกไว้และรอจนกว่าอินทผลัมจะออกดอกก่อนจึงจะทราบเพศ และถึงแม้ว่าเราจะได้ต้นตัวเมียไปปลูก แต่คุณภาพผลอินทผลัมก็จะไม่เหมือนกับต้นแม่ เนื่องจากผลอินทผลัมเป็นผลที่ได้จากการผสมเกสรข้ามต้น จึงถือว่าเมล็ดที่ได้เป็นพันธุ์ลูกผสมไม่ใช่พันธุ์แท้ ซึ่งไม่สามารถเรียกชื่อเดียวกับต้นแม่ได้ เราจึงสามารถตั้งชื่อพันธุ์อินทผลัมที่เพาะจากเมล็ดได้เอง ทั้งนี้คุณภาพของผลอินทผลัม ทั้งในเรื่องของขนาดหรือรสชาดอาจจะแย่ลง หรือใกล้เคียงต้นแม่พันธุ์เดิม หรือดีขึ้นก็ได้ แต่มีเพียงส่วนน้อยมากที่คุณภาพจะดีขึ้น 

              ผลอินทผลัมที่ซื้อมาจากตลาดทั่วไปหรือซุปเปอร์มาเก็ตทั้งแบบกินผลสดและผลแห้ง เมล็ดที่ได้หลังจากการบริโภคแล้ว สามารถนำไปเพาะเป็นต้นกล้าเพื่อเพาะปลูกได้ ในกรณีที่เป็นผลแบบกินแห้งซึ่งจะมีลักษณะเยิ้มคล้ายเชื่อมมา แต่ข้อเท็จจริงเป็นลักษณะของผลอินทผลัมเมื่อตากแห้งแล้ว ไม่ใช่การเชื่อมผลมา ซึ่งเมล็ดสามารถนำมาเพาะได้เช่นกัน สำหรับการเพาะเมล็ดอินทผลัม มีขั้นตอนดังนี้

              1. นำเมล็ดมาล้างทำความสะอาด โดยจะต้องล้างให้เยื่อที่หุ้มเมล็ดอินทผลัมออกให้หมด ในกรณีที่เป็นผลแบบกินแห้งจะมีน้ำตาลเกาะอยู่ที่เมล็ดมาก การล้างทำความสะอาดอาจจะทำได้ยากกว่าเมล็ดแบบกินสด อาจจะผสมน้ำยาล้างจานลงไปเพื่อให้ทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น ซึ่งการล้างจะต้องทำการล้้างหลายๆรอบให้สะอาดจริงๆเพราะถ้าเราล้างไม่สะอาดจะทำให้เกิดเชื้อราขึ้นที่เมล็ดที่เรานำมาเพาะได้

C6

รูปที่ 1 เมล็ดอินทผลัมพันธุ์ Barhi

               2. นำเมล็ดที่ทำความสะอาดแล้วจากข้อ 1 มาแช่น้ำทิ้งไว้ 2- 3 วัน โดยทำการเปลี่ยนน้ำอย่างน้อยทุกๆ 12 ชั่วโมง คอยสังเกตุดูว่ามีมดมาเกาะบริเวณขอบน้ำที่เราแช่เมล็ดอินทผลัมไว้หรือไม่ หากมีแสดงว่าเราอาจจะทำความสะอาดเมล็ดไม่ดีพอ ให้เริ่มทำตามข้อ 1 ใหม่


C7

รูปที่ 2 นำเมล็ดอินทผลัมพันธุ์มาแช่น้ำไว้ 2 - 3 วัน

               3. เตรียมกล่องพลาสติกที่มีฝาปิดได้สนิทมาล้างทำความสะอาด นำกรดาษทิชชูมารองก้นกล่องพลาสติกไว้หนาประมาณ 3 ชั้น พรมน้ำใช้ชุ่มทั่วทั้งแผ่นทิชชูแต่อย่าให้แฉะ ถ้ากระดาษทิชชูแฉะเกินไปให้เทน้ำออก

                4. นำเมล็ดจากข้อ 2 มาจัดเรียงในกล่องพลาสติก แล้วปิดฝาให้สนิท ในช่วงการงอกของเมล็ดอินทผลัมต้องการความชื้นที่สม่ำเสมอ แต่ไม่ได้ต้องการอากาศ จึงจำเป็นต้องปิดฝาให้สนิท


C8

รูปที่ 3 นำเมล็ดอินทผลัมพันธุ์มาแช่น้ำแล้ว มาจัดเรียงลงในกล่อง 

                5. นำกล่องที่จัดเรียงเมล็ดอินทผลัมและปิดฝาสนิทแล้ว ไปไว้ในบริเวณที่อากาศร้อนอบอ้าว (แต่ไม่ให้โดนแดด) เช่น ห้องครัว หรือห้องเก็บของ หลังจากนั้นประมาณ 3-5 วัน รากสีขาวจะเริ่มงอกออกมาจากบริเวณสะดือของเมล็ด

                6. เมื่อรากงอกออกมายาวประมาณ 1 นิ้วให้นำออกมาเพาะในถุงดำขนาดอย่างน้อย 4x6 นิ้ว ทั้งนี้เมล็ดอาจจะงอกไม่พร้อมกันให้ทยอยนำออกมาเพาะ

C10

รูปที่ 4 เมล็ดอินทผลัมที่เพาะจนออกรากแล้ว

                7. เมื่อเมล็ดถูกนำมาเพาะในถุงดำประมาณ 15 - 20 วันก็จะเริ่มออกแทงหน่อเล็กๆออกมา ให้เลี้ยงไว้จนออกใบเลี้ยงประมาณ 3 ใบ จึงนำไปเปลี่ยนถุงขนาดใหญ่ขึ้น

รูปหน่ออ่อน

รูปที่ 5 อินทผลัมที่แทงหน่อออกมา

รูปที่ 5 ภาพแสดงการเจริญเติบโตของต้นอ่อนอินทผลัมที่เพาะจากเมล็ด

(ภาพจาก http://www.fao.org/docrep/006/Y4360E/y4360e05.htm)

                8. ให้เลี้ยงไว้จนต้นกล้าออกใบขนนกประมาณ 3 - 4 ใบ จึงนำไปปลูกลงดินได้

คำแนะนำสำหรับผู้ปลูกอินทผลัมเนื้อเยื่อ

คำแนะนำสำหรับผู้ปลูกอินทผลัมเนื้อเยื่อ

  • อินทผลัมที่ถูกจัดส่งมาจะบรรจุในกระถางขนาด 0.3 ลิตร
tc1


(รูปต้นกล้าอินทผลัมเพาะเนื้อเยื่อบรรจุในกระถางขนาด 0.3 ลิตร ภาพจาก http://www.gcnuae.com)

การดูแลต้นกล้าอินทผลัม

  • อินทผลัมจะสามารถอยู่ในกระถางเดิมได้เป็นเวลา 2 ถึง 3 เดือน แต่แนะนำให้รีบเปลี่ยนกระถางไปไว้ในกระถางใบใหม่หลังจาก วางต้นกล้าให้ปรับสภาพในเรือนเพาะชำที่ใช้สแลนพรางแสงความเข้ม 40% แล้ว เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์


การย้ายต้นกล้าไปปลูก

  • ถึงแม้ต้นกล้าเหล่านี้จะสามารถนำไปปลูกได้เลยในสวน แต่เพื่อให้มีอัตราการรอดสูง แนะนำว่าควรจะย้ายต้นกล้าเหล่านี้ไปเพาะเลี้ยงต่อในกระถางที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จนต้นกล้าออกใบจริง (ใบขนนก) จำนวน 3-4 ใบ ก่อนนำไปปลูกในสวน จะทำให้มีอัตราการรอดเกือบ 100% และใช้สแลนพรางแสงความเข้ม 40% เพื่อพรางแสงในฤดูร้อน


1. ขั้นตอนการย้ายต้นกล้าลงกระถางใบใหม่

1.1 กระถางที่ใช้ควรควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 ซม. ลึก 30 ซม. (หรือขนาดประมาณ 9.5 ลิตร) มีรูระบายน้ำด้านล่างไม่น้อยกว่า 5 รู เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้ทัน
1.2 ส่วนผสมที่ใช้ประกอบด้วยทรายหยาบ 12 ส่วน ขุยมะพร้าวหรือแกลบดำ 4 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน ผสมให้คลุกเคล้าเข้ากัน ส่วนผสมนี้อาจปรับเปลี่ยนได้ขึ้นกับวัสดุที่มีในท้องถิ่น และไม่ควรใช้ดินเหนียวเป็นส่วนผสม
1.3 นำส่วนผสมตามข้อ 1.2 ใส่ในกระถางใหม่จนเกือบเต็ม (ห่างจากขอบกระถางประมาณ 3 ซม.) บดอัดส่วนผสมให้แน่น
1.4 ใช้กระถางเดิมเจาะรูส่วนผสมตามข้อ 1.3 โดยกดเจาะลงไปจนสุดกระถาง นำกระถางเดิมขึ้นมา
1.5 ย้ายต้นกล้าจากกระถางเดิมอย่างระมัดระวัง อย่่าให้ดินเดิมของต้นกล้าหลุดออกจนรากเปลือยเปล่ารวมทั้งอย่าทำให้รากต้นกล้าหัก
1.6 นำต้นกล้าตามข้อ 1.5 ไปใส่ไว้ในรูที่เจะไว้ตามข้อ 1.4 โดยให้โคนต้นกล้าอยู่เหนือระดับผิวดินและไม่ให้รากต้นกล้าลอย บดอัดดินรอบๆต้นกล้าให้แน่นเพื่อไล่อากาศออก
1.7 รดน้ำต้นกล้าด้วยปริมาณที่พอเพียงที่จะไล่อากาศออกจากดิน
1.8 นำต้นกล้าไปไว้ในเรือนเพาะชำด้วยสแลนที่พรางแสงความเข้ม 40%
1.9 ความถี่ในการรดน้ำต้นกล้าขึ้นกับสภาพอากาศ ต้องระมัดระวังไม่ให้ต้นกล้าขาดน้ำ รวมทั้งต้องไม่รดน้ำต้นกล้ามากเกินไปจนรากเน่า ซึ่งจะมีผลทำให้ต้นกล้าตายได้ โดยเราสามารถตรวจสอบว่าปริมาณการให้น้ำเหมาะสมหรือไม่ได้จากการตรวจเช็คผิวดินลงไป 5 ซม.
1.10 ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยใดๆเพิ่มเติมให้กับต้นกล้าในกระถางใหม่นี้ เพราะปริมาณสารอาหารจากปุ๋ยคอกในส่วนผสม มีปริมาณเพียงพอสำหรับต้นกล้าไปอีก 1 ปี

 2. ขั้นตอนการย้ายต้นกล้าไปปลูกในสวน

2.1 เมื่อต้นกล้าออกใบจริง 3-4 ใบ แล้วเราก็สามารถนำต้นกล้าไปปลูกลงในสวนได้ โดยระยะปลูกอินทผลัมที่เหมาะสมคือไม่น้อยกว่า 7 เมตร
2.2 ขุดหลุมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 50 ซม. ลึก 70 ซม.
2.3 นำดินที่ขุดได้จากข้อ 2.2 จำนวน 3 ส่วน ผสมกับปุ๋ยคอก 1 ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากัน
2.4 นำส่วนผสมตามข้อ 2.3 กลบลงไปในหลุม บดอัดให้แน่น จนได้ความลึก 50 ซม.
2.5 ขุดหลุมส่วนผสมที่บดอัดแน่นตามข้อ 2.4 ให้มีขนาดเท่ากับกระถางของต้นกล้า
2.6 ย้ายต้นกล้าจากกระถางเดิมอย่างระมัดระวัง อย่าให้ดินเดิมของต้นกล้าหลุดออกจนรากเปลือยเปล่ารวมทั้งอย่าทำให้รากต้นกล้าหัก
2.7 นำต้นกล้าตามข้อ 2.6 ไปใส่ไว้ในหลุมที่เจะไว้ตามข้อ 2.5 โดยให้โคนต้นกล้าอยู่เหนือระดับผิวดินและไม่ให้รากต้นกล้าลอย บดอัดดินรอบๆต้นกล้าให้แน่นเพื่อไล่อากาศออก
2.8 รดน้ำต้นกล้าด้วยปริมาณที่พอเพียงที่จะไล่อากาศออกจากดิน
2.9 พรางแสงและลมให้ต้นกล้าด้วยทางมะพร้าวในระยะ 6 เดือนแรก

3. การรดน้ำ
รดน้ำด้วยปริมาณที่เพียงพอ ตามที่กำหนดไว้ข้างล่างนี้ ทั้งนี้ให้พิจารณาจากสภาพของดิน รวมทั้งสภาพอากาศในบริเวณที่ปลูกด้วย
3.1 ในฤดูร้อน ให้รดน้ำ 1 ครั้ง ทุกๆวัน
3.2 ในฤดูหนาว ให้รดน้ำ 1 ครั้งทุกๆ 4 วัน
3.3 ในฤดูฝน ให้รดน้ำตามความเหมาะสม โดยตรวจเช็คสภาพผิวดินลงไป 5 ซม.

4. การใส่ปุ๋ย
ให้ใส่ปุ๋ยคอกปีละ 1 ครั้งในฤดูหนาว รอบๆโคนต้น พรวนให้ผสมเข้ากันดีกับดินเดิม

โดย สวนภูผาลัม
(ปรับปรุงจาก http://www.awm-datepalm.com/en/advises/index.htm)


Email us © สวนภูผาลัม 2555 All right reserved