บทนำ
อินทผลัมเป็นพืชที่ขอบอากาศร้อนและต้องปลูกอยู่กลางแจ้งที่ได้รับแสงแดดส่องสว่างตลอดวัน อินทผลัมจะไม่เจริญเติบโตหากปลูกอยู่ในร่ม อินทผลัมสามารถเจริญเติบโตได้อุณหภูมิตั้งแต่ 7°C เป็นต้นไป โดยมีอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดที่ 32°C และยังสามารถเจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิสูงขึ้นจนไปถึง 38°C/40°C ซึ่งหากอุณหภูมิสูงกว่านี้อัตราการเจริญเติบโตของอินทผลัมจะเริ่มลดลง อินทผลัมสามารถทนต่อสภาพอากาศหนาวเย็นได้ แต่ระยะเวลาต้องไม่นานจนเกินไป โดยจะหยุดการเจริญเติบโตชั่วคราว ถึงแม้อินทผลัมสามารถทนแล้งได้ดีเป็นระยะเวลานานก็ตาม แต่อินทผลัมเป็นพืชที่ต้องการน้ำมากในการให้ผลผลิตที่ดี ดังนั้นจึงต้องมีการให้น้ำในช่วงฤดูแล้งและฤดูหนาวด้วย สำหรับดินทีเหมาะสมคือดินร่วนปนทรายที่อุดมสมบูรณ์ มีระบบระบายน้ำที่ดีและมีอากาศถายเทได้สะดวก
อินทผลัมเป็นไม้ผลเมืองร้อนที่ปลูกกันมากในประเทศแถบตะวันออกกลางที่มีสภาพภูมิอากาศแบบทะเลทรายซึ่งมีสภาพอากาศร้อนและแทบไม่มีฝนตก อินทผลัมจึงมีความทนทานต่อสภาพอากาศที่แห้งแล้งได้เป็นอย่างดี ทำให้คนไทยส่วนมากเข้าใจว่าอินทผลัมเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว อินทผลัมเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก โดยมีความต้องการน้ำถึงปีละ 2,000 - 2,500 ม.ม. (ประเทศไทยมีฝนตกปีละ 1,000 - 1,600 ม.ม.) ดังนั้นถ้าหากเราต้องการอินทผลัมที่มีคุณภาพ จะต้องมีการดูแลรักษาที่ดี และต้องมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอในช่วงหน้าแล้งด้วย
อินทผลัมเป็นพืชที่ไม่สมบูรณ์เพศ โดยมีดอกตัวเมียและดอกตัวผู้แยกอยู่กันคนละต้นกัน ดังนั้นในการปลูกเพื่อมีการติดผลที่ดี จึงจำเป็นต้องปลูกทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมียไว้ในสวน เฉพาะต้นตัวเมียเท่านั้นที่ให้ผลอินทผลัม แต่ต้องมีเกสรจากต้นตัวผู้มาผสมด้วย ดังนั้นเราจึงต้องปลูกอินทผลัมทั้งตัวผู้และตัวเมีย โดยหากเรามีต้นอินทผลัมตัวผู้สายพันธุ์ที่ดีปลูก จะมีสัดส่วนในการปลูกตัวผู้ 1 ต้น ต่อตัวเมียถึง 40-50 ต้น
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์อินทผลัมสามารถทำได้ 3 วิธี คือ เพาะจากเมล็ด แยกหน่อจากต้นแม่ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
การขยายพันธุ์จากเมล็ดจะมีข้อดีคือขยายพันธุ์ปริมาณมากได้อย่างรวดเร็ว โดยมีต้นทุนในระยะแรกต่ำกว่าวิธีอื่น แต่เนื่องจากอินทผลัมเป็นพืชที่่ไม่สมบูรณ์เพศ การขยายพันธุ์โดยเมล็ด โอกาสที่จะได้เป็นต้นตัวผู้และต้นตัวเมียมีอย่างละครึ่ง และเราจะไม่สามารถทราบเพศของต้นอินทผลัมจากการเพาะเมล็ด ต้องปลูกไว้และรอจนกว่าอินทผลัมจะออกดอกก่อนจึงจะทราบเพศ และถึงแม้ว่าเราจะได้ต้นตัวเมียไปปลูก แต่คุณภาพผลอินทผลัมก็จะไม่เหมือนกับต้นแม่ เนื่องจากผลอินทผลัมเป็นผลที่ได้จากการผสมเกสรข้ามต้น จึงถือว่าเมล็ดที่ได้เป็นพันธุ์ลูกผสมไม่ใช่พันธุ์แท้ ซึ่งไม่สามารถเรียกชื่อเดียวกับต้นแม่ได้ เราจึงสามารถตั้งชื่อพันธุ์อินทผลัมที่เพาะจากเมล็ดได้เอง ทั้งนี้คุณภาพของผลอินทผลัม ทั้งในเรื่องของขนาดหรือรสชาดอาจจะแย่ลง หรือใกล้เคียงต้นแม่พันธุ์เดิม หรือดีขึ้นก็ได้ แต่มีเพียงส่วนน้อยมากที่คุณภาพจะดีขึ้น ดังนั้นการปลูกด้วยวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจทดลองปลูกที่มีเงินลงทุนไม่มากนัก ก็สามารถที่จะซื้อผลอินทผลัมมาจากตลาดทั่วไปทั้งแบบกินผลสดและผลแห้ง เมล็ดที่ได้หลังจากการบริโภคแล้ว สามารถนำไปเพาะเป็นต้นกล้าเพื่อเพาะปลูกได้ แต่ต้องมีการบริหารจัดการแปลงปลูกที่ดี และอาจจะต้องมีการคัดเลือกสายพันธุ์ เพื่อหาสายพันธุ์ที่มีคุณภาพดีนำไปขยายพันธุ์ต่อไป สำหรับต้นกล้าที่เพาะจากเมล็ดควรจะเพาะเลี้ยงไว้ในถุงดำจนกว่าจะออกใบขนนกประมาณ 3 - 4 ใบขึ้นไปหรือต้นกล้ามีอายุประมาณ 1 ปี เพื่อให้มีโอกาสรอดเกือบ 100% เมื่อนำต้นกล้าปลูกลงแปลงปลูก ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเพาะเมล็ดอินทผลัมได้ที่บทความเรื่อง "การเพาะอินทผลัมโดยใช้เมล็ด"
รูปที่ 1 ภาพต้นกล้าเพาะจากเมล็ดที่พร้อมลงปลูก
วิธีที่ 2 คือการขยายพันธุ์โดยแยกหน่ออินทผลัมจากต้นแม่ วิธีนี้เป็นการขยายพันธุ์ที่เราจะได้พันธุ์แท้ ต้นกล้าที่ได้จะมีคุณสมบัติเหมือนต้นแม่ทุกประการ แต่เนื่องจากต้นแม่พันธุ์จะมีความสามารถให้หน่อได้เพียงเฉลี่ยประมาณ 20-30 หน่อต่อต้นตลอดอายุ (จำนวนหน่ออินทผลัมจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสายพันธุ์) เราจึงไม่สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ในปริมาณมากๆอย่างรวดเร็วได้ ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีการจำหน่ายหน่อพันธุ์อินทผลัมในเชิงพาณิชย์ และหากจะสั่งหน่อพันธุ์มาจากต่างประเทศจะมีราคาสูงมาก โดยราคาหน่อพันธุ์จะมีราคาสูงกว่าต้นกล้าที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ทำให้หากสั่งซื้อหน่อต้นพันธุ์มาปลูกแล้ว การลงทุนด้วยวิธีนี้ในระยะแรกจะสูงที่สุด วิธีนี้จึงเหมาะกับสวนที่มีต้นแม่่พันธุ์อินทผลัมที่ดีอยู่แล้ว และต้องการขยายการเพาะปลูกอินทผลัมออกไป (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทความเรื่อง "การขยายพันธุ์อินทผลัมด้วยหน่อ")
รูปที่ 2 วิดีโอแสดงการแยกหน่ออินทผลัม
จากปัญหาของการขยายพันธุ์ 2 วิธีข้างต้น ในต่างประเทศจึงขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อขึ้นมา การขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้คือการโคลนนิ่ง ต้นกล้าที่ได้จึงเป็นพันธุ์แท้ โดยจะมีคุณสมบัติเหมือนต้นแม่พันธุ์ทุกประการ ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพสูงและสม่ำเสมอ สามารถขยายพันธุ์ได้ปริมาณมากและรวดเร็วเหมาะสำหรับการปลูกในเชิงพาณิชย์ แต่ต้องใช้เงินลงทุนมากกว่าการปลูกด้วยเมล็ด ปัจจุบันการปลูกในเชิงพาณิชย์ของต่างประเทศจะนิยมวิธีนี้ เนื่องจากสามารถบริหารจัดการแปลงปลูกได้ดีกว่า ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดีและสม่ำเสมอ และให้ผลผลิตได้เร็ว สามารถปลูกได้ปริมาณมากตามต้องการและทุกฤดูกาล ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง ในระยะเวลาสั้น สำหรับในประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตต้นกล้าอินทผลัมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศและราคายังค่อนข้างสูงอยู่ โดยในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยอาจจะสามารถที่จะผลิตอินทผลัมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้เอง ซึ่งจะทำให้ราคาต้นกล้าลดลงจากปัจจุบัน และลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้ สำหรับการปลูกจากต้นกล้าเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทความเรื่อง คำแนะนำสำหรับผู้ปลูกอินทผลัมเนื้อเยื่อ
(ภาพจาก บริษัท Al Wathba Marionnet LLCTM)
รูปที่ 3 ต้นกล้าอินทผลัมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
ผู้ที่สนใจปลูกอินทผลัมสามารถเลือกรูปแบบการปลูกตามกำลังความสามารถและทุนทรัพย์ของตัวเอง ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป เราต้องเลือกวิธีที่คิดว่าเหมาะสมกับตัวเอง ทั้งนี้อาจจะเลือกปลูกแบบผสมผสานทั้ง 3 วิธีดังกล่าวข้างต้นก็ได้
ระยะห่างในการปลูก
ระยะห่างสำหรับการปลูกอินทผลัมที่แนะนำคือ 8x8 เมตร หรือ 8x10 เมตร หรือ 10x10 เมตร เนื่องจากอินทผลัมเมื่อโตเต็มที่จะมีทางใบกว้างมาก รวมทั้งมีระบบรากที่ลึก และขยายออกกว้างมาก รวมทั้งเพื่อให้อินทผลัมได้รับแสงแดดและลมเต็มที่ โดยหากเลือกปลูกระยะห่าง 8x8 เมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ จะสามารถปลูกได้ 25 ต้น แต่สำหรับผู้ที่มีพื้นที่น้อยอาจจะปลูกระยะชิดกว่านี้ แต่ไม่ควรน้อยกว่า 7 เมตร หากระยะปลูกน้อยกว่านี้เมื่ออินทผลัมเติบโตเต็มที่จะเข้าไปบริหารจัดการจะลำบาก เนื่องจากอินทผลัมเป็นพืชที่อายุยืนยาวมากกว่า 100 ปี โดยจะให้ผลผลิตเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 8 ปี และสามารถจะให้ผลผลิตได้เต็มที่ถึงต้นละมากกว่า 200 กิโลกรัมต่อปี โดยให้ผลผลิตต่อเนื่องไปจนอายุประมาณ 50-60 ปีจึงจะเริ่มให้ผลผลิตลดลง ดังนั้นการวางแผนระยะห่างสำหรับการปลูกจึงต้องพิจารณาให้ดี
(ภาพจาก http://www.zvieli.co.il/yotvata.htm)
รูปที่ 4 สวนอินทผลัมที่อิสราเอล
(ภาพจาก http://www.flowersinisrael.com/Phoenixdactylifera_page.htm)
รูปที่ 5 ต้นอินทผลัมที่เจริญเติบโตเต็มที่
ขนาดหลุมปลูก
ขนาดหลุมที่ขุดสำหรับปลูกที่แนะนำคือ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซ็นติเมตร ลึกประมาณ 80 เซ็นติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก แล้วนำดินที่ขุดขึ้นมา 3 ส่วนผสมกับป๋ยคอก 1 ส่วน ถมกลับลงไปในหลุมจนเต็ม แล้วจึงขุดหลุมที่ถมกลับไปออกให้มีขนาดเท่าถุงดำหรือกระถางที่เพาะเลี้ยงต้นกล้า จากนั้นจึงนำต้นกล้าออกจากถุงดำไปปลูกในหลุม กลบดินคืนให้แน่นแล้วรดน้ำให้ชุ่ม การขุดหลุมขนาดใหญ่และการเตรียมหลุมปลูกที่ดี จะทำให้อินทผลัมเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่เนื่องการขุดหลุมขนาดใหญ่ดังกล่าวทำได้ยาก และใช้แรงงานมาก ดังนั้นหากจะขุดหลุมเพื่อปลูกอินทผลัมจำนวนมาก อาจจะประยุกต์ทำเครื่องเจาะดินต่อจากท้ายรถไถก็จะสามารถขุดเจาะหลุมขนาดใหญ่ดังกล่าวได้สะดวกและรวดเร็วกว่ามาก รายละเอียดการทำงานของเครื่องขุดเจาะหลุมสามารถดูได้ที่เว็บไซต์ของสวนภูผาลัม สำหรับฤดูกาลที่เหมาะสมในการปลูกอินทผลัมคือช่วงต้นฤดูฝน แต่ถ้าสามารถติดตั้งระบบการให้น้ำในสวนได้ ก็สามารถที่จะปลูกอินทผลัมได้ทุกฤดูกาล ทั้งนี้ต้นกล้าที่จะนำมาปลูกไม่ว่าจะเป็นต้นกล้าที่เพาะจากเมล็ด หรือต้นกล้าที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาควรจะอนุบาลไว้ในเรือนเพาะชำจนโตขนาดออกใบขนนก 3 – 4 ใบก่อน จะทำให้อัตราการรอดสูงเกือบ 100% สำหรับต้นกล้าที่เป็นหน่อที่แยกมาจากต้นแม่ ต้องเป็นหน่อที่มีอายุไม่น้อยกว่า 2 – 3 ปีมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 – 35 เซ็นติเมตรน้ำหนักประมาณ 10 – 25 กิโลกรัม หากใช้หน่อที่เล็กกว่านี้จะมีอัตราการรอดตายต่ำ และเมื่อขุดแยกหน่อออกมาจากต้นแม่แล้ว ให้ใส่ยากันเชื้อราเดือนละ 2 ครั้ง และเพาะเลี้ยงอนุบาลไว้ในเรือนเพาะชำประมาณ 1-2 ปีให้แข็งแรงก่อนจึงจะนำมาลงแปลงปลูกได้
รูปที่ 6 เครื่องเจาะดินที่ต่อจากท้ายรถไถ
การให้น้ำ
ควรให้น้ำทุกๆวันในฤดูร้อน หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และรดน้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้งในฤดูหนาว หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง จะทำให้อินทผลัมเติมโตได้ดี และให้ผลผลิตที่ดี หากเราปลูกต้นกล้าที่ออกใบขนนกแล้ว 3-4 ใบ ลงในแปลงช่วงต้นฤดูฝน เมื่อได้รับน้ำฝนมาหนึ่งฤดูแล้ว ไม่ได้รดน้ำในช่วงหน้าแล้ง อินทผลัมส่วนใหญ่จะสามารถทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ตลอดช่วงหน้าแล้ง แต่จะเจริญเติบโตช้ามาก
การกำจัดวัชพืช
ในช่วงฤดูฝนวัชพืช จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมากจนปกคลุมต้นกล้าและแย่งอาหาร ทำให้อินทผลัมเจริญเติบโตได้ช้า จึงต้องหมั่นกำจัดวัชพืชไม่ให้ขึ้นปกคลุม และคอยดูแลบริเวณโคนต้นให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันศัตรูพืชและแมลงต่างๆมารบกวน
การใส่ปุ๋ย
ให้ใส่ปุ๋ยคอกปีละ 2 ครั้ง ช่วงเดือนตุลาคม และพฤษภาคมโดยการพรวนดินให้ปุ๋ยคอกผสมเข้ากันดี
การตัดแต่งใบ
ใบอินทผลัมที่แก่แล้วให้ตัดทิ้ง โดยในต้นเล็กอาจจะใช้กรรไกรตัดแต่งใบ ต้นที่โตขึ้นมาอาจจะใช้เคียวในการตัดแต่งใบ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ใบแก่เหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของแมลง และยังทำให้ทรงพุ่มดูสะอาดสวยงาม สำหรับใบที่ยังไม่แก่ ให้ตัดหนามบริเวณโคนใบทิ้งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายในขณะทำงาน และเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณโคนใบอินทผลัมจะมีหนามที่แข็งและยาวมาก
การผสมเกสร
เนื่องจากอินทผลัมมีต้นตัวผู้และตัวเมียแยกจากกัน การอาศัยธรรมชาติจากลมและแมลงเพียงอย่างเดียว ให้มาช่วยผสมเกสรจะทำให้อินทผลัมติดลูกไม่ดก ดังนั้นจึงต้องอาศัยเราให้ช่วยผสมเกสรให้จึงจะติดลูกดก อินทผลัมจะออกดอกเป็นจั่นโดยลักษณะดอกเกสรตัวผู้จะมีสีขาว กลีบดอกเป็นแฉกๆคล้ายหางกระรอก ดูรูปที่ 6
รูปที่ 7 ดอกอินทผลัมตัวผู้
สำหรับอินทผลัมต้นตัวเมียจะออกดอกเป็นจั่น เหมือนกับอินทผลัมต้นตัวผู้ แต่ดอกของต้นตัวเมียจะมีลักษณะเป็นเมล็ดกลมๆเป็นช่อสีเขียวอ่อน ดูรูปที่ 7
รูปที่ 8 ดอกอินทผลัมตัวเมีย
โดยปกติแล้วอินทผลัมต้นตัวผู้จะออกดอกก่อนต้นตัวเมีย จึงต้องมีการเก็บเกสรต้นตัวผู้ไว้รอผสมให้เกสรต้นตัวเมีย เพื่อให้ติดลูกดก โดยเมือจั่นตัวผู้แตกออกมา เห็นกลีบดอกสีขาวเป็นแฉกๆให้นำถุงพลาสติกมาคลุมแล้วผูกปากถุงไว้ จากนั้นตัดช่อดอกออกมา แล้วนำมาเขย่าจะได้ละอองเกสรตกออกมา ให้นำละอองเกสรมาใส่ถุงไว้ ไล่อากาศออก ปิดปากถุงให้สนิทแล้วนำไปเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นช่องปกติ ซึ่งเราสามารถเก็บรักษาเกสรไว้ได้นานเป็นปี เพื่อรอผสมเกสรให้กับต้นตัวเมีย
เวลาที่เหมาะสมที่สุดในการผสมเกสรคือช่วงเช้า โดยนำเกสรตัวผู้ที่เก็บไว้บางส่วนมาใส่ถุงพลาสติก เขย่าถุงให้ละอองเกสรฟุ้งกระจายในถุง จากนั้นนำไปครอบดอกตัวเมีย แล้วเขย่าให้ละอองเกสรผสมกัน โดยควรผสมซ้ำอีก 1 ครั้งในวันต่อมา และถ้าหากเกิดฝนตกหลังจากผสมเกสรไปแล้ว 4-6 ชั่วโมง ต้องทำการผสมเกสรใหม่ เพราะน้ำฝนจะชะละอองเกสรตัวผู้ออกไป ซึ่งอาจจะทำให้ติดผลไม่ดีเท่าที่ควร
การตัดแต่งช่อผล
เราจะต้องทำการปลิดผลอินทผลัมบางส่วนในขณะที่ผลยังเล็กอยู่ออกบ้าง เพื่อให้ผลอินทผลัมที่เหลืออยู่มีขนาดใหญ่ มีคุณภาพดี สุกเร็ว มีราคาสูง และเป็นที่ต้องการของตลาด โดยให้มีผลอินทผลัมเหลืออยู่ในแต่ละก้านประมาณ 20 – 25 ผล และมีอยู่ 45 – 50 ก้านใน 1 ช่อ การปล่อยให้แต่ละช่อมีจำนวนก้านและติดผลดกมากจนเกินไป จะทำให้ผลที่ได้มีขนาดเล็ก และมีผลบางส่วนไม่สมบูรณ์
การกำจัดศัตรูพืช
ในช่วงปลายฤดูฝนจะมีศัตรูพืชลักษณะเป็นเม็ดเล็กมาจับที่ใบอินทผลัม ส่วนมากจะอยู่บริเวณด้านหลังใบ และจะแพร่ขยายออกไปทำให้ใบแห้ง เรียกว่าโรคใบจุด ให้รีบตัดใบนั้นไปทำลายทิ้งก่อนแพร่ระบาดออกไป ไม่จำเป็นต้องฉีดพ่นยากำจัดศัตรูพืช เพียงแต่หมั่นตรวจดูว่าเริ่มมีการระบาด แล้วให้รีบกำจัดโดยการตัดใบที่เป็นโรคทิ้งไปแต่เนิ่น ๆ
รูปที่ 9 โรคใบจุด